สมาคมการบรรจุภัณฑ์ไทย ชี้เป้าไทยสู่ฮับบรรจุภัณฑ์-การพิมพ์ รับดีมานด์ปี 63 สดใส พร้อมแนะผู้ประกอบการใช้ เทคฯ บรรจุภัณฑ์-การพิมพ์ อัพดีกรีก้าวกระโดด
บิ๊กเอกชน กลุ่มบรรจุภัณฑ์-การพิมพ์ เร่งพัฒนาเครื่องจักร – ระบบจัดการนวัตกรรม รับอุตสาหกรรม 4.0 เตรียมโชว์นวัตกรรมสุดล้ำในงาน “แพ็ค พริ้นท์อินเตอร์เนชั่นแนล 2019” แฟร์ยิ่งใหญ่ระดับโลก
กรุงเทพฯ 19 สิงหาคม 2562 – สมาคมการบรรจุภัณฑ์ไทย ตั้งเป้าเร่งพัฒนาไทย ก้าวขึ้นเป็นฮับศูนย์กลางการผลิต ของอุตสาหกรรมการพิมพ์ และบรรจุภัณฑ์ จากอานิสงค์ดีมานด์ตลาดเติบโตต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมอาหารแปรรูป กลุ่มค้าปลีกออนไลน์ อีคอมเมิร์ซ โลจิสติกส์ ฯลฯ แนะภาคอุตสาหกรรม เอสเอ็มอี โอท็อป และผู้ประกอบธุรกิจรายย่อย ปรับตัวและพัฒนาขีดคุณภาพการผลิต ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านบรรจุภัณฑ์และการพิมพ์สมัยใหม่ ซึ่งปัจจุบันสามารถเข้าถึงได้ง่าย ไม่ต้องใช้งบประมาณลงทุนจำนวนมาก เพื่อส่งเสริมโอกาสทางการค้าใหม่ๆ ในตลาดสากล พร้อมจับมือพาร์ทเนอร์เตรียมจัดงาน “แพ็ค พริ้นท์อินเตอร์เนชั่นแนล 2019” มหกรรมจัดแสดงเทคโนโลยีสำหรับอุตสาหกรรมการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ ที่ใหญ่ที่สุดของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ระหว่าง 18 – 21 กันยายน 2562 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุม ไบเทค บางนา เพื่อเร่งการเข้าถึงนวัตกรรมขั้นสูง ที่ช่วยสร้างข้อได้เปรียบให้กับผู้ประกอบการรายย่อย และอุตสาหกรรมไทย
นายวิวัฒน์ อุตสาหจิต เลขาธิการ สมาคมการบรรจุภัณฑ์ไทย กล่าวว่า รายงานล่าสุดของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) พบว่าความต้องการใช้งานพิมพ์ และบรรจุภัณฑ์ในประเทศไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเนื่อง ทั้งจากตลาดในประเทศและตลาดส่งออก ส่งผลให้คลัสเตอร์อุตสาหกรรมการผลิตต่างๆ เติบโต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมอาหารแปรรูป กลุ่มค้าปลีกออนไลน์ อีคอมเมิร์ซ โลจิสติกส์ ฯลฯ ขณะที่ประเทศไทยเองกำลังเร่งเดินหน้าพัฒนาความพร้อมตามนโยบาย 4.0 เพื่อก้าวขึ้นสู่การเป็นฮับศูนย์กลางด้านการผลิต ที่เกี่ยวเนื่องกับวงการพิมพ์และการบรรจุภัณฑ์หลัก ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ข้อท้าทายหนึ่งที่จะช่วยส่งเสริมการเติบโตของประเทศ สร้างโอกาสการแข่งขัน และยกระดับความสามารถการผลิตเพื่อแข่งขันในระดับสากล ไม่เพียงในระดับมหภาค แต่รวมถึงผู้ประกอบการและเจ้าของธุรกิจส่วนบุคคล ได้แก่ เทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่ ด้านบรรจุภัณฑ์และการพิมพ์ เพื่อตอบสนองความต้องการหลากหลาย และตอบโจทย์ตลาดมากยิ่งขึ้น โดยปัจจุบัน ภาคอุตสาหกรรมเร่งการลงทุนด้านเทคโนโลยีในนิคมสินสาคร ซึ่งเป็นฐานการผลิตหลักเพื่อพัฒนากำลังการผลิต และศักยภาพของการผลิตอยางมีคุณภาพ ด้านผู้ประกอบการในประเทศเอง จึงต้องรู้จักปรับตัวและพัฒนาขีดความสามารถการผลิตของตนเองผ่านการใช้เทคโนโลยีมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเครื่องจักร ซอฟแวร์การจัดการ หรือแม้กระทั่งวัสดุการผลิตแบบใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มผู้ค้ารายย่อย เอสเอ็มอี โอท็อป และเจ้าของธุรกิจขนาดเล็กถึงกลาง ซึ่งน่าจะได้รับอานิสงค์จากการพัฒนาอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยี ที่ปัจจุบันสามารถเข้าถึงนวัตกรรมเหล่านี้ได้ง่ายขึ้น และไม่ต้องใช้งบประมาณในการลงทุน หรือปริมาณการผลิตจำนวนมาก ซึ่งจะช่วยปูทางไปสู่โอกาสทางการค้าใหม่ๆ ในตลาดสากล
ทั้งนี้ สมาคมการบรรจุภัณฑ์ไทย และสมาคมการพิมพ์ไทย ร่วมกับเมสเซ่ ดุสเซลดอร์ฟ เอเชีย ผู้นำด้านการจัดงานแสดงสินค้าภาคธุรกิจอุตสากรรมของโลก จึงเตรียมจัดงาน “แพ็ค พริ้นท์อินเตอร์เนชั่นแนล 2019” มหกรรมจัดแสดงเทคโนโลยีสำหรับอุตสาหกรรมการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ ที่รวบรวมมาจากกว่า 300 องค์กร 25 ประเทศชั้นนำทั่วโลก ระหว่าง 18 – 21 กันยายน 2562 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุม ไบเทค บางนา เพื่อเร่งการเข้าถึงนวัตกรรมและเทคโนโลยีขั้นสูงที่ประเทศไทยกำลังมองหา พร้อมจุดเด่นของงานอย่าง บริการจับคู่ และให้คำปรึกษา ระหว่างคู่ธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะช่วยสร้างข้อได้เปรียบให้กับผู้ประกอบการรายย่อย และอุตสาหกรรมไทยให้เท่าทันโลก สร้างผลลัพธ์การผลิตที่น่าดึงดูด ประหยัดต้นทุน สร้างความยั่งยืนในตลาดโลก ที่มีการแข่งขันในระดับสูงยิ่งขึ้น โดยคาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมงานกว่า 30,000 คน ในปีนี้ นายวิวัฒน์ กล่าวทิ้งท้าย
นายสุรศักดิ์ อัมมวรรธน์ ผู้อำนวยการฝ่าย Industry 4.0 Transformation Packaging Business เอสซีจี กล่าวว่า เอสซีจีมองเห็นการเติบโตของการใช้งานผลผลิตจากการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ ที่ได้รับอิทธิพลจากกลุ่มธุรกิจอีคอมเมอร์ส อาหารเครื่องดื่ม และโลจิสติกส์ โดยในปัจจุบัน สามารถผลิตบรรจุภัณฑ์ที่ตอบรับความต้องการใช้งานที่หลากหลาย อาทิ บรรจุภัณฑ์สำหรับอาหารพร้อมรับประทาน บรรจุภัณฑ์ช่วยชะลอการสุกของผักและผลไม้ และยืดอายุการบริโภค บรรจุภัณฑ์ทดแทนการใช้งานพลาสติก หรือพลาสติกที่สามารถรีไซเคิลได้ บรรจุภัณฑ์ลดแรงกระแทก ฯลฯ โดยพร้อมขยายการผลิตรองรับการใช้งานไม่เพียงอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ แต่ยังรวมถึงกลุ่มลูกค้าที่มีความต้องการใช้งานในปริมาณที่น้อยลง อาทิ เจ้าของกิจการ กลุ่มโอท็อป หรือเอสเอ็มอี เป็นต้น เพื่อช่วยสร้างโอกาสให้กับผู้ประกอบการรายย่อยในการพัฒนาแบรนด์สินค้า และผลิตภัณฑ์ตามได้โดยไม่สร้างงบประมาณการลงทุนที่สูงมากเกินความจำเป็น
นายสุรสิทธิ์ เรืองจรัสพิพัฒน์ หัวหน้าฝ่ายการขาย บริษัท ไฮเดลเบิร์ก กราฟฟิคส์ (ประเทศไทย) กล่าวว่า ไฮเดลเบิร์กเชื่อว่าบรรจุภัณฑ์จะเป็นหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้การลงทุนเทคโนโลยีการพิมพ์เติบโต โดยปัจจุบัน มีการใช้งานนวัตกรรมของไฮเดลเบิร์กในส่วนตลาดบรรจุภัณฑ์ถึงราว 45% เนื่องจากครอบคลุมการใช้งานที่หลากหลายตามความต้องการของผู้ผลิต ไม่เพียงเครื่องจักร แต่ยังรวมถึงโปรแกรมซอฟต์แวร์ และโซลูชั่นจัดการ ที่ช่วยให้กระบวนการผลิตของลูกค้าสะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ไฮเดลเบิร์กยังได้พัฒนาระบบการพิมพ์ดิจิทัล ที่มีคุณภาพเทียบเท่าการพิมพ์ระบบออฟเซ็ท โดยมีจุดเด่นด้านนวัตกรรมสี ที่รองรับการใช้งานสีได้กว่า 95% หรือราว 1,755 สี จากสีพื้นฐานเพียง 7 สี ลดขั้นตอนการทำงานได้ถึง 2 ใน 3 เมื่อเทียบกับกระบวนการผลิตทั่วไป ซึ่งเหมาะอย่างยิ่งกับการใช้งานผลิตบรรจุภัณฑ์ในปัจจุบัน ที่มีการออกแบบและใช้สีที่หลากหลายมากขึ้น รวมถึงยังสามารย่นระยะเวลาการผลิตได้ไวมากยิ่งขึ้น
ด้าน นางสาวปิยชนก ศิริมังคละ ผู้จัดการฝ่ายขาย ผลิตภัณฑ์ Graphic Arts บริษัทฟูจิฟิล์ม (ประเทศไทย) กล่าวว่า ปัจจุบัน ฟูจิฟิล์ม เร่งพัฒนาผลิตภัณฑ์รองรับการเติบโตของตลาดการพิมพ์ ไม่เพียงสื่อสิ่งพิมพ์ และงานกราฟิกอาร์ต แต่ยังครอบคลุมการพิมพ์บนวัสดุที่แปลกใหม่ และพร้อมใช้งานในหลากหลายอุตสาหกรรม อาทิ ตลาดการแพทย์ ฯลฯ และเชื่อว่าการลงทุนด้านเทคโนโลยี จะสามารถสร้างการเติบโตให้กับผู้ประกอบการได้ตั้งแต่ระดับเริ่มต้น ไปจนถึงระดับผู้ผลิตยักษ์ใหญ่ และช่วยสร้างความพร้อมให้กับอุตสาหกรรมไทย เพื่อก้าวเข้าแข่งขันในตลาดสากลอย่างมีประสิทธิภาพ
“แพ็ค พริ้นท์อินเตอร์เนชั่นแนล 2019” มีกำหนดจัดขึ้นระหว่าง 18 – 21 กันยายน 2562 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.pack-print.de หรือเฟซบุ๊กแฟนเพจ PackPrintInternational