In Trend
สมชนะ กังวารจิตต์
ปฏิเสธไม่ได้แล้วครับว่าในยุคนี้บรรจุภัณฑ์นั้น สัมผัสกับผู้บริโภคที่ใกล้ชิดที่สุด ทั้งสื่อสาร ทั้งสัมผัส (เปิด-ปิด ดื่ม-ทาน-ใช้ เก็บ และทิ้ง) ดังนั้นตัวบรรจุภัณฑ์เองย่อมมุ่งเน้นสอดคล้องไปตามกระแสของเทรนด์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น เมื่อผู้บริโภคเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว
ต่อไปเป็นบทวิเคราะห์ 10 เทรนด์บรรจุภัณฑ์ไทย ปี 2565 จากคุณสมชนะ กังวารจิตต์ ไอคอนนักออกแบบบรรจุภัณฑ์มือรางวัลกว่า 139 รางวัล ในเวทีโลก เจ้าของบริษัท Prompt Design บริษัทไทย ๆ ที่ติดอันดับที่ 15 ของโลก ที่ได้ทดลองและทดสอบเพื่อจะหาคำตอบเรื่องเทรนด์บรรจุภัณฑ์ของประเทศไทยว่าปี 2565 มีแนวทางจะไปในทิศทางไหน ซึ่งในปีที่แล้วคุณสมชนะได้ถูกรับเชิญไปเป็นกรรมการในการตัดสินวงการบรรจุภัณฑ์ของโลกมากว่า 7 ประเทศ (อเมริกา จีน 2 ครั้ง อังกฤษ ญี่ปุ่น อินเดีย และอิหร่าน) ทำให้เห็นแนวโน้มของบรรจุภัณฑ์ของโลกได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น สิ่งเหล่านี้จึงนำมาผสมผสานกับความเฉพาะตัวของประเทศไทยเรา จึงทำให้ได้ผลลัพธ์เป็นเทรนด์บรรจุภัณฑ์ในปี 2565 ไปติดตามกันเลยครับ
1. Hygienext สุขอนามัย
ทุกคนประสบกับภัยโควิด-19 คนทั้งโลกมุ่งเน้นความสะอาดมากขึ้น ความปลอดภัยจะมาเป็นอันดับต้น ๆ จึงเกิดเทรนด์ HYGIENEXT นี้ขึ้นมา หลาย ๆ แบรนด์จำเป็นที่จะต้องเพิ่มจำนวนบรรจุภัณฑ์มาใส่สินค้าของตนเองให้ปลอดภัยยิ่งขึ้น ให้มีหลายชั้นมากขึ้น เพื่อจะตอบสนองเทรนด์นี้ ซึ่งในต่างประเทศก็ทำเช่นนั้นเหมือนกัน แต่จะมี Platform หรือ Technology มาช่วยตรงนี้เพิ่มขึ้นอีก ตัวอย่างเช่น บริษัท Daymark สร้างตราสัญลักษณ์แปะสินค้าที่บ่งบอกความปลอดภัย และใช้เทคโนโลยีบ่งบอกว่าสินค้ายังไม่ถูกแกะออกระหว่างทาง สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้แสดงถึงความปลอดภัยของสินค้า หรือแม้กระทั่ง DS smith X Touchguard antimicrobial เป็นการรวมกันของผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์ และเทคโนโลยีพื้นผิวที่ปลอดภัย มาจับมือกันเพื่อให้สอดคล้องกับเทรนด์นี้
2. Trawell การท่องเที่ยวที่สดใส
เมื่อปีหน้าประเทศเริ่มเปิด โควิดสายพันธุ์ต่าง ๆ เริ่มคลี่คลาย คนอยากออกไปผจญภัยในที่ต่าง ๆ มากขึ้น แนวโน้มการท่องเที่ยวค่อย ๆ เริ่มกลับมา ทำให้คนเริ่มค้นหาผลิตภัณฑ์เพื่อใช้ในการเดินทางที่จะเกิดขึ้น เทรนด์นี้เพิ่มขึ้น 24% จากปีที่แล้ว และมีการค้นหาสินค้ายาสีฟัน กระเป๋าแต่งหน้า กระเป๋าใส่เครื่องสำอาง สำหรับการเดินทางทั้งหมดนี้เพิ่มขึ้นมากกว่า 50% หรือแม้กระทั้งในปี 2021 นั้นคำว่า “การเดินทาง” เป็นเทรนด์ที่ค้นหากันมากที่สุดอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนถึง 3 เท่าตัว ซึ่งในมุมมองของสินค้าและบรรจุภัณฑ์นั้น จำพวกสินค้าที่อำนวยความสะดวกระหว่างไปเที่ยว เช่น พวก Travel Set, Travel Pack และกลุ่มสินค้าหรือบรรจุภัณฑ์ประเภทของฝาก ของที่ระลึก ของขวัญ ของชำร่วย จะโตขึ้นและคือคำตอบอย่างแน่นอน
3. Greener Future อนาคตบรรจุภัณฑ์แห่งความยั่งยืน
แบรนด์ระดับโลกกำลังตอบสนองเทรนด์เรื่องสิ่งแวดล้อมนี้อย่างเข้มข้น ผู้ค้าปลีก และบริษัทสินค้าอุปโภคบริโภค มีการกำหนด Roadmap เพื่อพาแบรนด์ของตนเองเดินทางไปสู่ความยั่งยืน ซึ่งตรงนี้เองเป็นเทรนด์ต่อเนื่องมา 2 ปีติดต่อกันอย่างเข้มข้นแล้ว ถ้าเราไม่จำกระแสนี้ไว้ เป็นไปได้ว่าอาจตกขบวนในไม่ช้านี้ เพราะเทรนด์นี้กำลังจะกลายเป็นสิ่งจำเป็นที่บังคับทุก ๆ สินค้าจะต้องทำ ผมให้เทคนิกของการทำ Green Packaging ไว้ 4 ข้อ คือ ลดวัสดุ และทำให้น้ำหนักเบาขึ้น ออกแบบให้รีไซเคิลได้ ใช้วัสดุเดียวที่ไม่ใช่มัลติเลเยอร์ และสุดท้าย ใช้วัสดุเพื่อสิ่งแวดล้อม ตัวอย่างเรื่องของการลดวัสดุ เช่น น้ำดื่ม C2 No Label เป็นน้ำดื่มไร้ฉลากของไทยที่คว้ารางวัลมา 8 รางวัลโลก ชี้ให้เห็นว่าเรื่องนี้ยังคงเป็นประเด็นสำคัญในโลกอยู่
4. E-Commerce Packaging ลงลึกเรื่อง E-commerce
ปีที่แล้วถือว่า Trend เรื่อง E-Commerce มาแรงมาก ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเทรนด์ของ Unboxing Experience หรือ Packaging Orders มีการพูดถึงกันในวงกว้าง ขนาดว่ายอดรวมคนดูคลิปใน Tiktok เรื่องนี้ รวมกันถึง 1.5 พันล้านวิว เลยทีเดียว และเทรนด์นี้คงยังแรงอย่างต่อเนื่อง การที่จะแพ็คของจีบลูกค้าแบบนี้นั้น จำเป็นต้องเข้าใจเรื่องการใส่ใจรายละเอียดในทุกๆส่วนเวลาแพ็ค เพื่อให้ผู้บริโภครู้ถึงความตั้งใจและพิถีพิถันของเจ้าของแบรนด์ อาจจะใช้อุปกรณ์ต่าง ๆ ช่วย เช่น สติกเกอร์ เทปกาวสวย ๆ กล่องลังสวย ๆ กระดาษห่อสวย ๆ การ์ดสวย ๆ
5. Viral Packaging บรรจุภัณฑ์จับกระแส
เทรนด์นี้ยังไม่ค่อยเกิดขึ้นในไทย แต่ผมอยากสนับสนุนมากๆ เหตุผลคือ พวกเรามักจะเสพแบรนด์เมืองนอกในการทำ Viral ผ่านบรรจุภัณฑ์ เช่น ซอส Heinz ออกรุ่น Marz Edition, Nissin ออกน้ำซุปใส่โซดา หรือ โค้ก เอาขยะพลาสติกมาทำเป็นขวดโค้ก ทั้งหมดนี้นั้นเป็นการผลิตจริง แต่ทำออกมาจำนวนไม่มาก เน้นการใส่ไอเดียสร้างสรรค์ลงไปแรง ๆ เพื่อต้องการจับกระแสในโลกโซเชียลในวงกว้างระดับ Global Scale ซึ่งต่างประเทศทำเป็นกลยุทธ์กันเลย ผมจึงอยากสนับสนุนเจ้าของแบรนด์คนไทย ให้ทำเรื่องแบบนี้กันเยอะ ๆ
6. Less is More เรียบๆสิดี
ยังคงเป็นเทรนด์ที่มาอย่างต่อเนื่องจากปีที่แล้ว ตัวอย่างที่ชัดเจน เช่น ไอโฟน ไอพอด เครื่องใช้ไฟฟ้าอื่น ๆ คือการลดทอน ตัดทอนสิ่งที่ไม่จำเป็นออกให้เหลือเฉพาะสาระสำคัญ ๆ เทรนด์นี้ยังคงเป็นสิ่งที่โลกมองหาอยู่ ซึ่งหลาย ๆ สาขาด้านความคิดสร้างสรรค์ก็ได้รับอิทธิพลจากเทรนด์ Less is more เหมือนกัน ไม่เว้นแม้แต่ด้านบรรจุภัณฑ์ เช่น แคลเซียมบำรุงกระดูกของ บี.โอ.แคล ที่ลดทอนและสื่อสารเฉพาะสิ่งที่สำคัญเท่านั้น
7. Smart and Connected Packaging สมาร์ทแพคเกจจิ้ง
เทรนด์นี้เข้มข้นขึ้นเรื่อย ๆ ทุกคนกระโจนเข้าสู่โลกออนไลน์ รวมทั้งบทบาทของเทคโนโลยีเริ่มมีผลต่อพวกเรามากขึ้น อีกทั้ง Facebook ก็ประกาศเรื่อง Metaverse ดังนั้นการทำให้บรรจุภัณฑ์เชื่อมโยงกับเทคโนโลยีจะแบ่งได้เป็น 2 แกน คือ
1. Active Type–เทคโนโลยีที่มาใส่บรรจุภัณฑ์จะสามารถตรวจสอบความสมบูรณ์ของผลิตภัณฑ์ด้านในได้ เช่น การวัดอุณหภูมิความชื้นภายในตัวสินค้า หรือบ่งบอกย้ำเตือนวัดหมดอายุแบบแสดงผลเรียลไทม์
2. Connected Type – ตรงนี้จะเป็นการที่ต้องเชื่อมโยงกับมือถือเป็นตัวกลาง เช่น การเช็คสต็อก การตรวจสอบสถานะต่าง ๆ รวมทั้งเรื่องการส่งเสริมการขายของแบรนด์ สร้างเรื่องราว Brand Story, Brand Purpose เพื่อเสริมประสบการณ์ผู้ใช้
8. Diversity & Inclusive Design / Design for Good บรรจุภัณฑ์สร้างสังคมดี
เทรนด์ที่เราจะเห็นเพิ่มเติมในปีนี้คือ บรรจุภัณฑ์ที่เน้นถึงความหลากหลายของบุคคล ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเพศ ความทุพพลภาพ เชื้อชาติ เพศ อายุ ความเท่าเทียม แม้ว่าความหลากหลายและการรวมไว้ในการออกแบบบรรจุภัณฑ์นั้นมีมาระยะหนึ่งแล้ว ที่เราพอเห็น ๆ กัน เช่น Sure และ Olay ออกโรลออน และครีม เพื่อคนพิการ หรือแม้กระทั่ง Pepsi ทำ Limited Edition กระป๋องเพื่อเป็นตัวแทนการเชิดชูฮีโร่ Frontline ในสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา ต่อไปเราเริ่มเห็นว่ามันจะซับซ้อนยิ่งขึ้น เพราะด้วยค่านิยม Diversity & Inclusion จะดำเนินต่อไปตามแนวโน้มของความยั่งยืนและความเท่าเทียมของมนุษย์
9. Becomes The Canvas บรรจุภัณฑ์คือผืนผ้าใบ
พวกเราสังเกตเห็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ บรรจุภัณฑ์ถูกมองว่าเป็นผืนผ้าใบสำหรับงานศิลปะการออกแบบ พบว่ามีแบรนด์จำนวนมากที่ใช้กราฟิกและภาพประกอบที่ใหญ่ขึ้น แต่ตอนนี้ดูเหมือนว่าจะกลับมาได้รับความนิยมอีกครั้ง เพื่อบอกเล่าเรื่องราวที่ใหญ่ขึ้น และสร้างความโดดเด่นทั้งบนชั้นวาง และที่สำคัญที่สุดใน Digital Shelf เนื่องจาก Instagram และ TikTok กลายเป็นหน้าต่างร้านค้าที่ใหญ่ที่สุดของแบรนด์มากขึ้นเรื่อย ๆ เราจะเห็นบรรจุภัณฑ์ที่ใช้กราฟิกที่ชาญฉลาดและสะดุดตา เพื่อบอกเล่าเรื่องราวของแบรนด์ที่น่าจดจำมากขึ้น เช่นแบรนด์นม Milgrad’s ของประเทศรัสเซีย ที่ทำเป็นรูปแมว ซึ่งเป็นที่โด่งดังในประเทศจีนมาก
10. Storyselling สตอรี่เซลล์ลิ่ง
เทรนด์การใช้บรรจุภัณฑ์เพื่อเปลี่ยนผลิตภัณฑ์ให้กลายเป็นอุปกรณ์บอกเล่าเรื่องราวของตนเอง จะเป็นสิ่งที่เห็นมากขึ้น แต่การ Telling Story แบบเดิมนั้นอาจไม่เพียงพอ เพราะเดิมเราจะเล่าเรื่องราวในมุมตัวเองเป็นที่ตั้ง เราต้องใส่ความคิดสร้างสรรค์ในการประยุกต์การขายของ หรือ Selling เข้าไป ด้วยแสวงหาวิธีการออกแบบที่แปลก ๆ ใหม่ ๆ เพื่อสร้างความดึงดูดใจให้ผู้บริโภค และกระตุ้นความต้องการเค้าให้ได้ เช่น Thai Wisdom Rice เป็นข้าวที่เล่าถึงแหล่งที่มากว่าจะได้ข้าวสักเมล็ด และ Horror Ray เป็นไฟฉาย ที่ใช้เรื่องราวสยองขวัญและพิธีกรรมพิเศษในการบอกเล่าเรื่องราวที่น่าตื่นเต้นซึ่งดึงดูดใจโดยเฉพาะนักตั้งแคมป์รุ่นเยาว์
และทั้งหมดนี้คือ 10 เทรนด์ออกแบบรรจุภัณฑ์ไทย ปี 2565 ที่ได้นำมาฝากเอาไว้ เพื่อเป็นประโยชน์และแนวทางสร้างสรรค์ในการออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้ผู้ประกอบการธุรกิจ เจ้าของแบรนด์ นักออกแบบ นักสร้างสรรค์ และนักการตลาดต่อไป ขอให้เพื่อน ๆ พี่ ๆ น้อง ๆ ทุกคนโชคดีในปีหน้านี้ครับ